กลุ่มวิชาสังคม ม,5/6

1.
" -ตามนั้นเลย-Power-Team-"

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การเคลื่อนไหวของพลังสร้างสรรค์เพื่อปกป้องกระบี่

“พลังงานเราสามารถหามาทดแทนได้ แต่จังหวัดอย่างกระบี่ คงหาอะไรมาทดแทนไม่ได้” ป๊อด ธนชัย อุชชิน

หลายๆ คนอาจมีคำถามว่าทำไมกรีนพีซจึงต้องผลักดันปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ่านหินไม่ดีอย่างไร และกระบี่เองมีดีอย่างไรถึงต้องเรียกร้องให้ผู้คนออกมาเห็นความสำคัญและปกป้อง
สำหรับกรีนพีซแล้ว การตอบคำถามนี้คือ ต้องตีโจทย์ว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของจังหวัดกระบี่และผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เข้าใจง่ายและแพร่หลายมากที่สุด เพื่อที่ชาวไทยทุกคนจะได้ออกมาร่วมกันปกป้องกระบี่ของเราไว้ด้วยความหวงแหน และด้วยใจรัก

โจทย์ที่ยาก แต่ Infographic และ Motion Graphic สามารถทำให้เข้าใจง่าย

เหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องปกป้องกระบี่นั้นมีมากมาย แต่การย่อยข้อมูลให้สั้นและเข้าใจง่ายเป็นเรื่องยาก แต่ CreativeMoveเครือข่ายองค์กรสร้างสรรค์ กลับสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางอินโฟกราฟฟิกชุด “กระบี่มรกตแห่งอันดามัน และถ่านหินภัยร้ายคุกคามกระบี่” ที่ออกสู่สายตาของชาวไทยและแพร่หลายทางโซเชียลมีเดียไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ ทาง CreativeMOVE ได้เสนอไอเดียว่า Motion Graphic เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในช่วงเวลาสั้นๆ ผ่านทางภาพเคลื่อนไหว และการพากษย์เสียงเล่าเรื่อง ซึ่งคุณเอซ ผู้ก่อตั้งCreativeMove กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่เข้าร่วมกับกรีนพีซในครั้งนี้ว่า “ไม่อยากให้ใครทำร้ายกระบี่และธรรมชาติซึ่งเราหลงเหลือไม่เยอะแล้ว Infographic กับ Motion Graphic น่าจะทำให้คนเข้าใจได้ว่าปัญหาคืออะไร และชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นกระทบอะไร เราจะแก้ปัญหาอย่างไร และทำให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง ”

พี่ป๊อด ปกป้องกระบี่ด้วยเหตุผลง่ายๆ “เพราะจังหวัดอย่างกระบี่คงหาอะไรมาทดแทนไม่ได้”

หลายคนที่ได้ชม Motion Graphic: ทำไมเราต้องปกป้องกระบี่จากถ่านหิน? อาจจะคุ้นๆ กับเสียงพากย์นุ่มๆ โดยเจ้าของเสียงนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก” อีกหนึ่งพลังสำคัญที่ช่วยอาสาปกป้องกระบี่ผ่านทางเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ต้องขอบคุณ CreativeMove กับความร่วมมือน่ารักๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์ และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง Motion Graphic ชิ้นนี้
“หวังว่าคลิปนี้น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่ได้ดูเกิดความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติและจังหวัดกระบี่ของเรา รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของเรา ผมเองถ้าไม่ได้รับรู้จากเพื่อน ผมก็จะไม่มีข้อมูลว่ามีหน่วยงานที่วางแผนโครงการอะไรที่อาจเกิดผลเสียต่อประเทศของเรา เพราะฉะนั้นการบอกต่อข้อมูลจึงสำคัญมาก เพื่อนผมเองหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ ผมเองก็ไม่อยากกลับไปจังหวัดกระบี่อีกครั้งแล้วรับรู้ว่าทำไมจึงเกิดมลพิษขึ้นกับกระบี่เช่นนี้” พี่ป๊อดกล่าวระหว่างพูดคุยกับทีมงานถึงความสำคัญของการเผยแพร่ข้อมูล
ระหว่างการอัดเสียงพากย์ในสตูดิโอ พี่ป๊อดก็ได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ถึงผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเสริมข้อคิดดีๆ กับเราว่า  “พอดูข้อมูลต่างๆ แล้ว คิดว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จริงผลเสียจะมีมากกว่า เราอยากหวงแหนความบริสุทธิ์ความงดงามและความเป็นธรรมชาติของกระบี่ ผมเชื่อว่าพลังงานเราสามารถหามาทดแทนได้ แต่จังหวัดอย่างกระบี่ คงหาอะไรมาทดแทนไม่ได้ พลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญมาก คิดว่าถ้าเราใช้พลังงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อโลกให้มากที่สุดจะดีที่สุด เพราะจะทำให้เรารักษาโลกไว้ได้นาน ผมเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรพลังงานควรคิดให้เยอะและคำนวนถึงผลดีผลเสียให้มาก

วิดีโอ Motion Graphic นี้ จะไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้เลย หากปราศจากอีกหนึ่งพลังที่ยื่นมือและอาสาให้เราหยิบยืมเสียงเพื่อปกป้องกระบี่ร่วมกับกรีนพีซ “ผมอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่ง แต่ผมก็อยากจะทำหน้าที่ส่วนเล็กๆ นี้ของตัวเอง อยากจะมีส่วนช่วยเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะที่เป็นคนใช้เสียง ร่วมรณรงค์ยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะนำอันตรายมาสู่จังหวัดกระบี่ คิดว่าเสียงของเราจะเป็นสื่อในการส่งข้อมูลได้” และแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำให้ Motion Graphic ชิ้นนี้สำเร็จสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ การสร้างแรงบันดาลใจจากหนึ่งเหตุผลที่เข้ามาร่วมปกป้องกระบี่ของพี่ป๊อด ส่งไปถึงใจของอีกหลายพัน หลายหมื่นคนให้หันมาปกป้องกระบี่ กลายเป็นพลังขับเคลื่อนและผลักดันปกป้องกระบี่ เพื่อรักษาความสวยงามของกระบี่ไว้ และเพื่ออนาคตพลังงานที่ยั่งยืนของไทย

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทำให้ทุกวันเป็นวันคุ้มครองโลก

วันคุ้มครองโลกก่อรูปขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากปี พ.ศ. 2505 แต่กว่าจะเป็นกระแสธารของความสำนึก ด้านสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น และกลายเป็นจุดกำเนิดของ ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ก็อีกเกือบทศวรรษถัดมาคือในปี 2512 เมื่อสมาชิก วุฒิสภาเกย์ลอร์ด เนลสัน ผลักดันให้มีการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนออกมาบนท้องถนนและในพื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมรณรงค์ ปกป้องสิ่งแวดล้อมในวันที่ 22 เมษายน 2513 มีการตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่ง สหรัฐอเมริกา(United State Environmental Protection Agency หรือ USEPA) นำไปสู่การออกกฎหมายอากาศสะอาด นำ้สะอาดและกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและ พรรณพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Clean Air Act, Clean Water Act และ Endanger Species Act)

นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนจากกว่า 190 ประเทศทุกมุมโลก ร่วมกันลงมือปฏิบัติการในวันคุ้มครองโลก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเล็กๆ เช่น การปลูกดูแลต้นไม้ การทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในชุมชน และโน้มน้าวใจให้นักการเมืองมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วันคุ้มครองโลก(Earth Day)ในแต่ละปีมีหัวข้อของการเฉลิมฉลอง ในปี 2557 นี้ ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ประเด็นสิ่งแวดล้อมแห่งยุคสมัยที่ท้าทายอย่างยิ่ง นั่นคือ “เมืองสีเขียว(Green Cities)” จากรายงานของ UN Habitat ในปี 2555 อัตราส่วนของประชากรทั่วโลกที่อาศัยในเขตเมือง มีสูงกว่าประชากรในเขตชนบทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศประจักษ์ชัดเจนและสุดขั้วมากขึ้น ความจำเป็นในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา หากเรามีการลงทุนที่ชาญฉลาดในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน มีนโยบายสาธารณะคำนึงถึงอนาคตและพลเมืองที่ตระหนักและตื่นรู้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองที่เราอาศัยอยู่และปั้นแต่งอนาคตที่เราต้องการได้

กลุ่ม Earth Day Network เปิดแคมเปญเมืองสีเขียวในช่วงปลายปี 2556 เพื่อช่วยเมืองทั่วโลกให้มีความยั่งยืนมากขึ้นและลดรอยเท้าคาร์บอนของเมือง โดยเน้นไปที่สามส่วน คือ อาคารและสิ่งก่อสร้าง พลังงาน และการขนส่ง การณรงค์มุ่งสนับสนุนให้เมืองต่างๆ เร่งเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่สะอาดขึ้น ประชากรมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนมากขึ้นโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพ การลงทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการปฎิรูปกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แคมเปญนี้จะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558

ปลายปี 2549 กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในมหานคร 40 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเมืองใหญ่ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ(C40 Cities Climate Leadership Group) มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการยกคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง

หลายปีผ่านไป เมืองหลายเมืองขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างน่าสนใจ เช่น กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กจะเป็นเมืองแรกของโลกที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในสภาพสมดุล (Carbon Neutral) ภายในปี 2568 โดยการเน้นการปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพอาคารและตึกรามบ้านช่องที่มีส่วนในการปล่อยถึงร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ

เมืองโบโกตาของโคลัมเบียมีสร้างระบบโครงข่ายรถโดยสารด่วนพิเศษ(Bus Rapid Transit-BRT) 87 กิโลเมตร ที่รองรับผู้โดยสาร 1.5 ล้านคนต่อวันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350,000 ตันต่อปี ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกๆ ของโลกที่ได้เครดิตคาร์บอนภายใต้พิธีสารเกียวโต และขณะนี้มีโครงการนำร่องเพื่อยกระดับรถไฟฟ้าและรถไฮบริดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชน ในขณะที่เม็กซิโกซิตี้สามารถเปลี่ยนจากเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกโดยดำเนินโครงการ ProAire คือเอารถยนต์ออกจากท้องถนนเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ การใช้จักรยานร่วมกันและการเพิ่มทางเดินเท้า 

หลังจากพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้เข้าทำลายเมือง ผู้บริหารมหานครนิวยอร์กวางแนวทางให้เมืองมีความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติโดยยกระดับประสิทธิภาพโครงการข่ายสายส่งไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ระบบอาคาร ระบบการสื่อสาร และระบบน้ำและอาหาร ส่วนเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกได้ตั้งเป้าจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในปี 2563

จะว่าไปแล้ว มหานครกรุงเทพของเรามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เมืองอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติ สิ่งที่เห็นขณะนี้คือเรายังมุ่ง "สร้างภาพลักษณ์” ว่าเป็นเมืองที่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล มากกว่าที่จะลงมือให้สัมฤทธิผลและขยายเป็นปฏิบัติการที่ผู้คนในเมืองทำเป็นกิจวัตร

แม้ว่า เราจะมีบทเรียนจากโคตรมหาอุทกภัยปี 2554 ที่บอกเราว่า สังคมทันสมัยและเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้นเปราะบางต่อความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้ แทนที่เราจะคิดไปข้างหน้า เรากลับถอยไปหยิบเอาวิธิการสำเร็จรูปมาใช้โดยเรียกชื่อสวยหรูว่า ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีวงเงินกู้สูงนับ 3.5 แสนล้านบาท โดยฝันว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงกรุงเทพฯ

พื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ แต่แทนที่เราจะช่วยกันทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพิ่มสูงขึ้นเฉกเช่นมหานครใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เราพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะให้เป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ที่มีคอนกรีตเต็มทุกตารางนิ้ว ตัวอย่างเช่น "มักกะสัน” ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวราว 700 ไร่ ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นปอดฟอกมลพิษจากการจราจรที่แออัดของกรุงเทพฯ เป็นแก้มลิงกลางเมืองหลวง และเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่เป็น “ปอด” ให้กับมหานครและพื้นที่โดยรอบคือ พื้นที่สีเขียวกระเพาะหมู หรือ พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ราว 11,819 ไร่  และ Time magazine ยกให้เป็น “โอเอซิสแห่งเมืองที่เยี่ยมที่สุดในเอเชีย(The best urban oasis of Asia)”ในปี 2549 ขณะนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและการรุกคืบของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการขายจินตนาการรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหญ่บนความเขียวและเสน่ห์ของ “บางกระเจ้า” ที่มาจากวิถีชาวสวนดั้งเดิมของชาวพระประแดงผสมผสานกับป่าชายเลนตามธรรมชาติพื้นที่สามน้ำ เค็ม-กร่อย-จืด

ในปี 2557 นี้ แม้จะไม่มีการรณรงค์ที่โดดเด่นในวันคุ้มครองโลกในประเทศไทยอันเนื่องมาจากเงื่อนไขหลายประการ แต่สิ่งที่พลเมืองผู้ตื่นรู้ได้ลงมือปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องนั้นก่อผลสะเทือนในระดับต่างๆ ปฏิบัติการหลายอย่างได้เชื่อมเมืองและส่วนที่เหลือของประเทศเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการหยุดเขื่อนแม่วงก์ที่โต้แย้งความไม่สมเหตุสมผลการจัดการทรัพยากรน้ำแบบรวมศูนย์ ปฏิบัติการว่าด้วย “ต้นไม้” ในเมืองและริมถนนของกลุ่มเราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ และกลุ่มบิ๊กทรี ปฏิบัติการว่าด้วย “ต้นไม้” ริมทางหลวงของคนรักเมืองน่านและเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้นับร้อยนับพันที่อาจอยู่บนอานจักรยาน ในศูนย์คัดแยกขยะหรือกำลังออกแบบนวัตกรรมใหม่เพื่อประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน ฯลฯ เพื่อช่วยกันดูแล “บ้านเมือง” ในวาระวันคุ้มครองโลกซึ่งแท้ที่จริงเราสามารถทำได้ทุกวัน
ขอบคุณบทความและภาพจาก http://www.greenpeace.org/ 

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คืออะไร ???


สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน  เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ  ระดับโลก
          ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น 3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก ได้แก่
            ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
            ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
           ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC)
          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คืออะไร หรือ AEC คืออะไร หลายคนอาจจะยังสงสัย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับคำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC กันค่ะ

 ความเป็นมาพอสังเขป 

          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เนื่องจากสมาชิกอาเซียนเห็นว่า ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนประเทศ 10 ประเทศ ประชากรเกือบ 500 ล้านคน ดังนั้นถือว่าเป็นเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ จึงควรร่วมมือกัน เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เหตุนี้เอง อาเซียนจึงกลายสภาพเป็น เออีซี ในที่สุด โดยจะก่อตั้งเออีซีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2558 เลื่อนเข้ามาจากเดิมคือ พ.ศ. 2563

          อย่างไรก็ตาม อนาคตข้างหน้า เออีซีมีแนวโน้มขยายเป็น อาเซียน +3 คือ เพิ่ม จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก่อนที่จะเป็น อาเซียน +6 โดยเพิ่ม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN  Economic  Community : AEC) 
          AEC หรือ ASEAN  Economic  Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี 
          โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน  ASEAN  Summit ครั้งที่  8  เมื่อ  4  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2545  ณ  กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา ที่ได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทาง ได้มีการดำเนินงานที่แน่ชัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน  ได้แก่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  โดยจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  เงินทุน  และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีสำหรับการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้กำหนดให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558  ( ค.ศ. 2015)

 เป้าหมายสำคัญของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC  มี  4  ด้าน  คือ                                                                                                                           
          1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  (Single Market and Production Base)   
            เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  ลงทุน  แรงงานฝีมือ  เงินทุน  อย่างเสรี
            ส่วนนี้ จริงๆ เป็นการดำเนินตามพันธกรณีที่ได้ตกลงและดำเนินการมากันอยู่แล้ว ทั้ง
          * AFTA (ASEAN Free Trade Area)  เริ่มปี  2535 (1992)
          * AFAS (ASEAN Framework Agreement on  Services)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ลงนามปี  2538  (1995)  ได้เจรจาเปิดเสรีเป็นรอบๆ  เจรจาไปแล้ว  5  รอบ
          * AIA  (ASEAN Investment Area)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ  ลงนามและมีผลตั้งแต่ 2541  (1998)
          2. สร้างขีดความสามามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)
            ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบาย ที่ช่วยการรวมกลุ่ม  เช่น นโยบายการแข่งขัน นโยบายภาษี , ทรัพย์สินทางปัญญา, พัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน
            ร่วมกันดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนข้อมูล  ฝึกอบรมบุคคลากรร่วมกัน
          3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
            สนับสนุนการพัฒนา SMES
            สร้างขีดความสามารถผ่านโครงการที่มีอยู่แล้ว
          4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully  Integrated  into  Global Economy)
            เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับนอกภูมิภาค เช่น  ทำ  FTA

กรอบความร่วมมือ

          สำหรับกรอบความร่วมมือ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 21-22 กันยายน 2547 ที่กรุงเทพฯ สามารถหาข้อสรุปในสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการร่วมที่จะใช้กับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการ  ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการลงทุนและการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ดังนี้

          (1) การค้าสินค้า - จะเร่งลดภาษีสินค้าใน Priority Sectors (เกษตร/ประมง/ผลิตภัณฑ์ไม้/ผลิตภัณฑ์ยาง/สิ่งทอ/ยานยนต์ /อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สาขาสุขภาพ) เป็น 0% เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี คือ จาก 2010 เป็นปี 2007 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ ปี 2015 เป็น 2012 สำหรับประเทศ CLMV โดยได้กำหนดเพดานสำหรับสินค้าทั้งหมดใน Priority Sectors ไม่ต้องการเร่งลดภาษี (Negative List) ไว้ที่ 15%

          (2) การค้าบริการ - จะเร่งเปิดเสรีสาขาบริการใน Priority Sectors (สาขาสุขภาพ, e-ASEAN, ท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ) ภายในปี ค.ศ. 2010 ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้

          (3) การลงทุน - จะเร่งเปิดการลงทุนในรายการสงวน (Sensitive List) ภายในปี 2010 สำหรับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ปี ค.ศ. 2013 สำหรับเวียดนามและ 2015 สำหรับกัมพูชา ลาว และพม่า ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้ และส่งเสริมการผลิตในอาเซียนโดยการจัดตั้งเครือข่าย ASEAN free trade zones เพื่อส่งเสริมการซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน  (outsourcing) และดำเนินมาตรการร่วมเพื่อดึงดูด FDI

          (4) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน - ซึ่งประกอบด้วยเรื่องต่างๆ คือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรฐาน (standard and conformance) การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ logistics service สำหรับการขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน และ การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และ แรงงานมีฝีมือ

          (5) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน 11 สาขากำหนดมาตรการร่วม ซึ่งคาบเกี่ยวกับทุกสาขาเช่นเดียวกับในกรอบความตกลงฯ และมาตรการเฉพาะสำหรับการรวมกลุ่มแต่ละสาขานั้นๆ โดยรวมอยู่ในแผนการรวมกลุ่ม (Road map) ซึ่งผนวกอยู่กับพิธีสารฯ

          ขณะที่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors)  และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของ อาเซียน 11 ฉบับ (ASEAN Sectoral Integration Protocol) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547

          ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็ว ขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัดการรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย


 การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง

          การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่า

 สำหรับ 11 สาขานำร่องมีดังนี้

          1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร
          2. สาขาประมง
          3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง
          4. สาขาสิ่งทอ
          5. สาขายานยนต์
          6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
          9. สาขาสุขภาพ
          10. สาขาท่องเที่ยว
          11. สาขาการบิน

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น

 เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

          1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
          2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
          3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
          6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
          7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์


 ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า  จาการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า  เคลื่อนย้ายเสรี
          2. คาดว่า  การส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20%  ต่อปี
          3. เปิดโอกาสการค้าบริการ  ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง  เช่น  ท่องเที่ยว  โรงแรมและร้านอาหาร  สุขภาพ  ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
          4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น  อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง  อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย
          5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage)  และลดต้นทุนการผลิต
          6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก  สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก
          7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ  ผลการศึกษา   แสดงว่า AEC  จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3  หรือคิดเป็นมูลค่า 69  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
          2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว

 ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความ  พร้อมในการแข่งขัน  โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มีการดำเนินงานมาแล้ว  ได้แก่
          1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550)  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุตสาหกรรม  และบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
          2. มาตรการป้องกันผลกระทบ  ก่อนหน้านี้  กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาเป็น  พรบ.  มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard  Measure)  ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC  Blueprint  ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
          3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550  ลงวันที่  14  มิถุนายน  2550)  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com