กลุ่มวิชาสังคม ม,5/6

1.
" -ตามนั้นเลย-Power-Team-"

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทำให้ทุกวันเป็นวันคุ้มครองโลก

วันคุ้มครองโลกก่อรูปขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากปี พ.ศ. 2505 แต่กว่าจะเป็นกระแสธารของความสำนึก ด้านสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น และกลายเป็นจุดกำเนิดของ ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ก็อีกเกือบทศวรรษถัดมาคือในปี 2512 เมื่อสมาชิก วุฒิสภาเกย์ลอร์ด เนลสัน ผลักดันให้มีการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนออกมาบนท้องถนนและในพื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมรณรงค์ ปกป้องสิ่งแวดล้อมในวันที่ 22 เมษายน 2513 มีการตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่ง สหรัฐอเมริกา(United State Environmental Protection Agency หรือ USEPA) นำไปสู่การออกกฎหมายอากาศสะอาด นำ้สะอาดและกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและ พรรณพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Clean Air Act, Clean Water Act และ Endanger Species Act)

นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนจากกว่า 190 ประเทศทุกมุมโลก ร่วมกันลงมือปฏิบัติการในวันคุ้มครองโลก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเล็กๆ เช่น การปลูกดูแลต้นไม้ การทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในชุมชน และโน้มน้าวใจให้นักการเมืองมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วันคุ้มครองโลก(Earth Day)ในแต่ละปีมีหัวข้อของการเฉลิมฉลอง ในปี 2557 นี้ ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ประเด็นสิ่งแวดล้อมแห่งยุคสมัยที่ท้าทายอย่างยิ่ง นั่นคือ “เมืองสีเขียว(Green Cities)” จากรายงานของ UN Habitat ในปี 2555 อัตราส่วนของประชากรทั่วโลกที่อาศัยในเขตเมือง มีสูงกว่าประชากรในเขตชนบทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศประจักษ์ชัดเจนและสุดขั้วมากขึ้น ความจำเป็นในการสร้างชุมชนที่ยั่งยืนก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา หากเรามีการลงทุนที่ชาญฉลาดในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน มีนโยบายสาธารณะคำนึงถึงอนาคตและพลเมืองที่ตระหนักและตื่นรู้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองที่เราอาศัยอยู่และปั้นแต่งอนาคตที่เราต้องการได้

กลุ่ม Earth Day Network เปิดแคมเปญเมืองสีเขียวในช่วงปลายปี 2556 เพื่อช่วยเมืองทั่วโลกให้มีความยั่งยืนมากขึ้นและลดรอยเท้าคาร์บอนของเมือง โดยเน้นไปที่สามส่วน คือ อาคารและสิ่งก่อสร้าง พลังงาน และการขนส่ง การณรงค์มุ่งสนับสนุนให้เมืองต่างๆ เร่งเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่สะอาดขึ้น ประชากรมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนมากขึ้นโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพ การลงทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และการปฎิรูปกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แคมเปญนี้จะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558

ปลายปี 2549 กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในมหานคร 40 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเมืองใหญ่ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ(C40 Cities Climate Leadership Group) มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการยกคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง

หลายปีผ่านไป เมืองหลายเมืองขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างน่าสนใจ เช่น กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กจะเป็นเมืองแรกของโลกที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในสภาพสมดุล (Carbon Neutral) ภายในปี 2568 โดยการเน้นการปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพอาคารและตึกรามบ้านช่องที่มีส่วนในการปล่อยถึงร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ

เมืองโบโกตาของโคลัมเบียมีสร้างระบบโครงข่ายรถโดยสารด่วนพิเศษ(Bus Rapid Transit-BRT) 87 กิโลเมตร ที่รองรับผู้โดยสาร 1.5 ล้านคนต่อวันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350,000 ตันต่อปี ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกๆ ของโลกที่ได้เครดิตคาร์บอนภายใต้พิธีสารเกียวโต และขณะนี้มีโครงการนำร่องเพื่อยกระดับรถไฟฟ้าและรถไฮบริดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชน ในขณะที่เม็กซิโกซิตี้สามารถเปลี่ยนจากเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกโดยดำเนินโครงการ ProAire คือเอารถยนต์ออกจากท้องถนนเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ การใช้จักรยานร่วมกันและการเพิ่มทางเดินเท้า 

หลังจากพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้เข้าทำลายเมือง ผู้บริหารมหานครนิวยอร์กวางแนวทางให้เมืองมีความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติโดยยกระดับประสิทธิภาพโครงการข่ายสายส่งไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ระบบอาคาร ระบบการสื่อสาร และระบบน้ำและอาหาร ส่วนเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกได้ตั้งเป้าจัดการของเสียเหลือศูนย์ภายในปี 2563

จะว่าไปแล้ว มหานครกรุงเทพของเรามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เมืองอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติ สิ่งที่เห็นขณะนี้คือเรายังมุ่ง "สร้างภาพลักษณ์” ว่าเป็นเมืองที่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล มากกว่าที่จะลงมือให้สัมฤทธิผลและขยายเป็นปฏิบัติการที่ผู้คนในเมืองทำเป็นกิจวัตร

แม้ว่า เราจะมีบทเรียนจากโคตรมหาอุทกภัยปี 2554 ที่บอกเราว่า สังคมทันสมัยและเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้นเปราะบางต่อความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้ แทนที่เราจะคิดไปข้างหน้า เรากลับถอยไปหยิบเอาวิธิการสำเร็จรูปมาใช้โดยเรียกชื่อสวยหรูว่า ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีวงเงินกู้สูงนับ 3.5 แสนล้านบาท โดยฝันว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงกรุงเทพฯ

พื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ แต่แทนที่เราจะช่วยกันทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพิ่มสูงขึ้นเฉกเช่นมหานครใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เราพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะให้เป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ที่มีคอนกรีตเต็มทุกตารางนิ้ว ตัวอย่างเช่น "มักกะสัน” ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวราว 700 ไร่ ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นปอดฟอกมลพิษจากการจราจรที่แออัดของกรุงเทพฯ เป็นแก้มลิงกลางเมืองหลวง และเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่เป็น “ปอด” ให้กับมหานครและพื้นที่โดยรอบคือ พื้นที่สีเขียวกระเพาะหมู หรือ พื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ราว 11,819 ไร่  และ Time magazine ยกให้เป็น “โอเอซิสแห่งเมืองที่เยี่ยมที่สุดในเอเชีย(The best urban oasis of Asia)”ในปี 2549 ขณะนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและการรุกคืบของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการขายจินตนาการรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหญ่บนความเขียวและเสน่ห์ของ “บางกระเจ้า” ที่มาจากวิถีชาวสวนดั้งเดิมของชาวพระประแดงผสมผสานกับป่าชายเลนตามธรรมชาติพื้นที่สามน้ำ เค็ม-กร่อย-จืด

ในปี 2557 นี้ แม้จะไม่มีการรณรงค์ที่โดดเด่นในวันคุ้มครองโลกในประเทศไทยอันเนื่องมาจากเงื่อนไขหลายประการ แต่สิ่งที่พลเมืองผู้ตื่นรู้ได้ลงมือปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องนั้นก่อผลสะเทือนในระดับต่างๆ ปฏิบัติการหลายอย่างได้เชื่อมเมืองและส่วนที่เหลือของประเทศเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการหยุดเขื่อนแม่วงก์ที่โต้แย้งความไม่สมเหตุสมผลการจัดการทรัพยากรน้ำแบบรวมศูนย์ ปฏิบัติการว่าด้วย “ต้นไม้” ในเมืองและริมถนนของกลุ่มเราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ และกลุ่มบิ๊กทรี ปฏิบัติการว่าด้วย “ต้นไม้” ริมทางหลวงของคนรักเมืองน่านและเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ นี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพลเมืองผู้ตื่นรู้นับร้อยนับพันที่อาจอยู่บนอานจักรยาน ในศูนย์คัดแยกขยะหรือกำลังออกแบบนวัตกรรมใหม่เพื่อประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน ฯลฯ เพื่อช่วยกันดูแล “บ้านเมือง” ในวาระวันคุ้มครองโลกซึ่งแท้ที่จริงเราสามารถทำได้ทุกวัน
ขอบคุณบทความและภาพจาก http://www.greenpeace.org/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น