กลุ่มวิชาสังคม ม,5/6

1.
" -ตามนั้นเลย-Power-Team-"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สิบเหตุผลที่ถ่านหินไม่มีวันสะอาด



ท่ามกลางม่านหมอกควันมลพิษในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังบิดเบือนความจริงก็คือ มายาคติที่ว่า “ถ่านหินสะอาด” อันที่จริงแล้ว ถ่านหินสะอาดคือความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่สกปรก เป็นคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน มิใช่ถ่านหินชนิดใหม่แต่อย่างใด และนี่คือสิบเหตุผลง่ายๆ ที่ถ่านหินไม่มีสะอาด
หนึ่ง
เทคโนโลยีการเผาที่พ่นหินปูนเข้าไปในเตาเผาเพื่อให้หินปูนทำหน้าที่ดูดซับกำมะถันไม่ช่วยให้การเผาถ่านหินเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างไร เนื่องจากเทคโนโลยีการเผาไหม้ถ่านหินสะอาดวิธีอื่นยังคงอยู่ในขั้นตอนการเริ่มพัฒนา และไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาประสิทธิภาพได้เกินร้อยละ 43 อาจจะได้รับการพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ก่อนจะถึง 100 ปีนั้นสิ่งแวดล้อมจะต้องถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถหวนคืน
สอง
การทำความสะอาดถ่านหินจะช่วยลดระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ แร่ธาตุในถ่านหิน ไม่เป็นความจริง เนื่องจากผลจากการทำความสะอาดถ่านหินทำให้เกิดสารอันตรายจำนวนมาก โดยการนำถ่านหินไปกองไว้รวมกัน และให้น้ำฝนเป็นตัวชะล้าง โดยน้ำฝนจะชะเอาสารพิษออกจากถ่านหินและน้ำเสียเหล่านั้นก็จะไหลลงสู่แม่น้ำ และลำธารน้ำเสียจะเต็มไปด้วยกรดและโลหะหนักต่างๆ แต่ซัลเฟอร์ไม่ใช่มลพิษชนิดเดียว ยังมีปรอทที่ไม่สามารถควบคุมได้
สาม
การเผาไหม้โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่สามารถควบคุมมลพิษให้กับโรงไฟฟ้าด้วยการลดการปล่อยก๊าซที่ปนสารพิษได้จริง ถ่านหินประกอบด้วยวัสดุที่ไม่สามารถเผาไหม้ประมาณร้อยละ 7-30 และจะต้องมีการกำจัดขั้นสุดท้ายในที่สุด เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดพยายามดักจับกากของเสียเหล่านี้ก่อนที่จะถูกปล่อยออกทางปล่องของโรงไฟฟ้า กากของเสียพร้อมด้วยสารพิษตกค้างเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน การใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งมีปริมาณเถ้าและซัลเฟอร์ต่ำกว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเสียออกทางปล่อง และเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นได้ แต่ประสิทธิภาพด้านความร้อนจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 แน่นอนว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้  
สี่
ถ่านหินสะอาด คือ วิธีการปล่อยทิ้งมลพิษจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดก็ยังคงปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอยู่นั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่มีการเผาไหม้ถ่านหิน ก็จะมีการปล่อยสารปนเปื้อนออกมา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเถ้าลอย ก๊าซที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ น้ำเสีย หรือ กากของเสีย ที่ถูกทิ้งไว้หลังการเผาไหม้ ท้ายที่สุดล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
ห้า
การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ที่กล่าวว่าสามารถจับคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกักเก็บมันไว้ในทะเล หรือใต้ผิวโลก มีราคาต้นทุนการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เป็น 80 เกิดรายจ่ายมากขึ้นในระยะยาว การเฝ้าระวังและการตรวจสอบที่กินเวลานานนับทศวรรษเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ แม้กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าไปแทรกแซงเพื่อป้องกันหรือควบคุมเหตุการณ์รั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยความไม่แน่นอนนี้เองจึงไม่ไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับวันนี้หรือในอนาคต
หก
ต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถประเมินค่าได้ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถ่านหินเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เหมือง คนงานในเหมืองเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และความเจ็บป่วย ชุมชนท้องถิ่นต้องได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียที่มีภาวะเป็นกรดจากโรงไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำและลำธาร การปล่อยสารปรอทและสารพิษอื่นๆ ในกระบวนการเผาไหม้ รวมถึงก๊าซที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพมนุษย์
เจ็ด
ถ่านหินเป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากเหมืองขึ้นสู่ท้องฟ้า จากการขุดเจาะไปจนถึงการเผาไหม้ ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต โดยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เต็มไปด้วยธาตุคาร์บอน โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์มากกว่าน้ำมันร้อยละ 29 และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าก๊าซถึงร้อยละ 80
แปด
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยทั่วไป อาทิโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้นต้องใช้น้ำอย่างน้อย 104,330 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำหล่อเย็นของโครงการโรงไฟฟ้าจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ อย่างน้อย 66,960 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ถ่านหินที่ตกลงทะเลจะก่อมลพิษในท้องทะเลและสร้างสารพิษปนเปื้อนเมื่อรับประทานอาหารทะเลที่จับได้ในบริเวณนั้น
เก้า
การขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศจำเป็นต้องขนส่งทางเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ซึ่งระหว่างที่เรือเดินทางในทะเลนั้นจะทำลายแนวปะการัง ห่วงโซ่อาหาร สัตว์น้ำทั้งหมด รวมถึงทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในอาหารทะเล
สิบ
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและร้องเรียนต่อผู้สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่มักจะถูกเพิกเฉยเนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสกปรก
ร่วมลงชื่อหยุดยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ที่ www.protectkrabi.org
อ้างอิง http://www.greenpeace.org/seasia/th/

1 ความคิดเห็น: